รีวิว Monster Hunter Wilds

Story - สู่ดินแดนต้องห้าม ไขปริศนาอาร์คเวลด์ (6.5/10)
การเปิดเรื่อง: สู่ดินแดนต้องห้ามและปริศนาโบราณ
ในโลกของ Monster Hunter นั้นจะมีองค์กรนึงที่ได้รับมอบหมายหน้าที่โดยเฉพาะ ในการสำรวจและเข้าช่วยเหลือผู้คนที่ได้รับอันตรายหรือความเดือดร้อนจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โดยองค์กรนั้นจะใช้ชื่อว่า Hunters Guild ได้ออกสำรวจมายังบริเวณรอยต่อระหว่าง ดินแดนตะวันตกกับพื้นที่ต้องห้าม ที่มีชื่อเรียกว่า Forbidden Land ที่ทุกคนต่างคิดว่าพื้นที่นี้ไร้ซึ่งผู้คนอยู่อาศัย และแน่นอนว่ามันไม่ได้เป็นแบบนั้น Hunters Guild ได้พบกับเด็กชายคนนึงหมดสติอยู่ท่ามกลางทะเลทราย จึงได้เข้าช่วยเหลือเอาไว้ เด็กน้อยคนนี้มีชื่อว่า Nata ต่อมาหลังจากที่เด็กชายคนนี้ฟื้นคืนสติ เขาได้บอกเล่าเรื่องถึงภัยอันตรายโบราณที่น่าจะสูญพันธุ์ไปแล้ว เข้ามาโจมตีหมู่บ้านของพวกเขา เหตุการณ์นี้ทำให้ Hunters Guild ได้เปลี่ยนความคิดของพวกเขาที่ว่าดินแดนแห่งนี้ไร้ผู้คน และทำให้พวกเขาได้เริ่มต้นภารกิจใหม่ของตน นั่นก็คือการสำรวจผืนแผ่นดิน Forbidden Land ใหม่อีกครั้งนึง เพื่อตามหาชนเผ่า Keeper ครอบครัวของ Nata และไขปริศนามอนสเตอร์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วอย่าง White Wrath หรือ Arkveld และเนื่องด้วยภารกิจครั้งนี้เป็นภารกิจครั้งใหญ่ของสมาคมฮันเตอร์ ทำให้พวกเขาเลือกที่จะจ้างวานเราในภารกิจครั้งนี้ ในฐานะของ Leader Hunter หัวหอกที่จะนำพาทุกคนมาไขปริศนาครั้งนี้ให้กระจ่าง
สไตล์การเล่าเรื่อง และตัวละครหลัก: การผจญภัยและสหายร่วมทาง
อย่างที่เราได้ฟังกันไป ในภาคนี้ยังคงสไตล์การเล่าเรื่องในรูปแบบที่เน้นไปที่การสำรวจและค้นหาความจริงเบื้องหลังปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ผิดปกติอยู่ ตามแบบฉบับของมอนสเตอร์ฮันเตอร์ ที่ดูแล้วมันอาจจะไม่สามารถเล่าเรื่องที่ผิดแผกไปจากตรงนี้ได้ เพราะเนื้อหาในแต่ละภาคจะต้องเน้นไปที่การที่ Hunter เข้าต่อสู้กับ Monster ต่างๆ ในแต่ละภาค สิ่งหนึ่งที่น่าชื่นชมของภาคนี้เลยคือการเล่าเรื่องนั้น ทำให้เรารู้สึกเหมือนได้ผจญภัยไปกับตัวเอกของเราจริงๆ เนื่องจากทุกคนใน Hunter Guild นั้นเพิ่งมาเยือนในดินแดนต้องห้ามนี้เป็นครั้งแรกทั้งหมด ทำให้รีแอคชั่นต่างๆ ของทุกตัวละครภายในเกมนั้น จะตื่นตาตื่นใจไปกับสถานที่ต่างๆ วัฒนธรรม รวมถึงมอนสเตอร์ตัวใหม่ๆ ด้วยเช่นกัน จะมีก็แต่มอนสเตอร์ตัวเก่าๆ ที่ทางสมาคมเคยเจอมาอยู่แล้วก็อาจจะไม่ได้ตื่นเต้นเท่าไหร่นัก นอกจากตัวละครของเราแล้ว ตัวละครสมทบต่างๆ ก็ถือว่าออกแบบมาได้ค่อนข้างดี ทั้งสองตัวละครสมทบหลักอย่าง Alma Handler ของเราในภาคนี้ก็มีบทบาทอย่างชัดเจน และมีประโยชน์อย่างมาก แตกต่างจากภาคก่อนๆ Alma จะมีลักษณะนิสัยที่ชัดเจน เธอเป็นสาวน่ารักใจดี และน่าจะถูกใจหนุ่มๆ อยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว ส่วนสำคัญอีกอย่างที่ทำให้เธอมีความสำคัญกับเนื้อเรื่องตามมุมมองของผมคือ เธอทำให้รู้สึกว่า ความเป็น สมาคมฮันเตอร์นั้น มีความสำคัญอย่างมาก ตัวละครในเรื่อง ไม่ได้แค่ล่ามอนสเตอร์เพื่อไอเทมหรือความสะใจเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่พวกเขาล่าเพื่อปรับสมดุล และปกป้องด้วย ทุกครั้งที่เราจะออกล่าในเนื้อเรื่อง ตัวละครของเราก็จะต้องหันไปถาม Alma ก่อน เพื่อให้ได้รับคำยืนยันว่า เราสามารถล่ามอนสเตอร์ตัวดังกล่าวได้ ‘เสียง Guild Approve’ นอกจาก Alma แล้วเราก็ยังมีช่างตีเหล็กอีกคน ที่เป็นตัวละครสำคัญในภาคนี้ด้วย นั่นคือ Gemma ที่ออกแนวสาวห้าวต่างกับ Alma อยู่พอสมควร แต่สิ่งที่เหมือนกันของทั้งสองตัวละครเลยก็คือ พวกเธอมีนิสัยที่ค่อนข้างตรงไปตรงมาครับ ทำให้ผมรู้สึกเสียดายนิดหน่อยที่ทั้งสองตัวละครนั้นขาดมิติที่ดูลึกซึ้งไปครับ อย่างฉาก Alma ที่โดน Mudmud ขโมยของ ผมก็คาดหวังว่าจะได้เห็นการ Break Character ของ Alma ตรงนี้ แต่ก็ไม่ได้มีอะไรให้เห็นครับ
ประเด็นที่ผิวเผิน และจังหวะที่น่าเบื่อ: ความพยายามที่ไม่สุด
การเล่าเรื่องใน Monster Hunter Wilds นั้นพยายามจะผสมผสานระหว่างการผจญภัยในโลกแฟนตาซีกับการนำเสนอประเด็นทางนิเวศวิทยาและการอยู่ร่วมกันของมนุษย์กับธรรมชาติ แต่การที่เกมเน้นไปที่การล่าสัตว์ประหลาดเป็นหลัก ทำให้การนำเสนอประเด็นเหล่านี้เป็นไปอย่างผิวเผินและขาดความลึกซึ้ง ผู้เล่นบางคนอาจรู้สึกว่าเกมพยายามจะใส่ประเด็นเหล่านี้เข้ามาเพียงเพื่อสร้างความแตกต่าง แต่ไม่ได้มีการนำเสนออย่างจริงจังและน่าสนใจ นอกจากนี้ การที่เกมมีฉากคัตซีนและบทสนทนาที่ยาวนานเกินไปในบางช่วง ก็อาจทำให้ผู้เล่นรู้สึกเบื่อหน่ายและขาดความสนใจในเนื้อเรื่อง การที่เกมเน้นไปที่การสำรวจและค้นหาความจริง อาจทำให้ผู้เล่นบางคนรู้สึกว่าขาดเป้าหมายที่ชัดเจนและแรงจูงใจในการเล่นไปนั่นเองครับ
บทสรุปเนื้อเรื่อง: ดีที่สุดในซีรีส์? หรือแค่มาตรฐานทั่วไป?
ทั้งนี้ถ้าเทียบมาตรฐานของซีรีส์นี้ที่ผ่านมา นี่ก็น่าจะนับได้ว่าเป็นเกม Monster Hunter ที่เนื้อเรื่องดีที่สุดแล้ว แต่หากใช้บรรทัดฐานของเกมทั่วไป ก็อาจจะมองได้ว่า นี่ก็เป็นอีกเกมที่มีเนื้อเรื่องที่ไม่ได้โดดเด่นอะไรมากนัก แต่ใครสนล่ะครับ คนเล่น Monster Hunter ปกติก็ไม่ได้ดูเนื้อเรื่องกันอยู่แล้วจริงไหมครับ แต่สำหรับคนที่สนใจก็สามารถเสพมันได้อย่างไม่ได้ขัดหูขัดตามากนัก ยกเว้น Nata ล่ะนะ อันนี้ขอบอกเอาไว้ก่อนว่าคะแนนเนื้อเรื่องนี่พวกเราวัดจากการเทียบกับมาตรฐานของเกมอื่นๆ ไม่ได้เทียบกับซีรีส์เดียวกันนะครับ ถ้าใครรู้สึกว่าไม่ได้สนใจเนื้อเรื่องอยู่แล้ว จะตัดคะแนนตรงนี้ออกไปเลยก็ได้เช่นเดียวกัน เพราะยังไงการรีวิวครั้งนี้ก็แค่เป็นส่วนประกอบการตัดสินใจของหลายๆ ท่านที่ยังไม่ได้ซื้ออยู่แล้ว แถมมันมาจากมุมมองของเราเองด้วยเช่นเดียวกัน
Gameplay - การล่าที่ลื่นไหลและสะดวกสบายยิ่งขึ้น (9.5/10)
หัวใจหลัก, ระบบนิเวศ และคู่หู Seikret
เกมการเล่นของ Monster Hunter ที่แม้ว่าจะมีการระบุอย่างชัดเจนว่ามันเป็นเกม Style Action ที่มีส่วนผสมกับความ RPG แต่ถ้าเราจะนิยามให้ถูก มันคือเกม Style Boss Rush ที่มีส่วนผสมของ Action RPG มากกว่าครับ หัวใจหลักของเกมการเล่นนั้นไม่ได้ซับซ้อนอะไร เรารับภารกิจมา เราไปปราบมอนสเตอร์ และได้รับรางวัล ตัวของ Monster Hunter Wilds ก็ยังคงรักษาเอกลักษณ์ของซีรีส์นี้เอาไว้ได้อย่างครบถ้วน แต่ก็ได้เพิ่มระบบนิเวศแบบไดนามิกที่เปลี่ยนแปลงตามสภาพอากาศและฤดูกาลเข้ามาด้วย ทำให้การล่าแต่ละครั้ง มีความหลากหลายมากขึ้น นอกจากนี้แล้วยังมีการเพิ่มสัตว์คู่หูตัวใหม่เข้ามาอย่าง ‘Seikret’ จะเรียกไก่ โชโคโบะ หรืออะไรก็ตามแต่ครับ มันจะช่วยให้ผู้เล่นเคลื่อนที่ได้อย่างรวดเร็วในระหว่างการเดินทางในแผนที่ต่างๆ รวมถึงการเข้ามาช่วยเหลือในช่วงเวลาวิกฤตอย่างตอนที่โดนมอนสเตอร์อัดกระเด็น แล้วเราอยากที่จะออกจากสถานการณ์ดังกล่าว เราก็สามารถเรียก Seikret ออกมาช่วยได้ แม้ยามที่เราโดนอัดลงไปจมกับพื้นอยู่ก็ตามที นอกจากนี้แล้ว Seikret ยังช่วยเพิ่มมิติใหม่ในการเล่นได้ค่อนข้างเยอะ จากการที่เราสามารถกระโดดจาก Seikret ไปโจมตีมอนสเตอร์ หรือ ขึ้นขี่ได้ทันที โดยที่ไม่ต้องโดดจากที่สูง หรือพื้นที่ต่างระดับ ทำให้ตัวเกมดูมีมิติในการต่อสู้เพิ่มมากขึ้น
ระบบใหม่: Focus Mode และ Wound System
นอกจาก Seikret แล้วตัวเกมยังมีอีกสองระบบหลักๆ ที่ถูกเพิ่มเข้ามาในภาคนี้ นั่นคือ Focus Mode และ ระบบ Wound ที่เข้ามาช่วยเสริมมิติในการต่อสู้มากขึ้น ตัวของ Focus Mode นั้นจะทำให้ผู้เล่นสามารถเล็งเพื่อโจมตีได้ ถึงแม้ว่าหลังจากที่ผู้เล่นทำการโจมตีไปแล้ว เราจะไม่สามารถเปลี่ยนทิศทางกลางคันได้ แต่การใช้ Focus Mode ก็ทำให้ผู้เล่นสามารถเลือกโจมตีเฉพาะส่วนได้ดีขึ้นมากเลยทีเดียว และอีกระบบคือ Wound หรือบาดแผลของมอนสเตอร์ เมื่อผู้เล่นทำการโจมตีไปยังจุดเดิมซ้ำๆ มอนสเตอร์จะมีโอกาสเกิดบาดแผลบริเวณนั้น ทำให้เราสามารถทำดาเมจกับมอนสเตอร์ตัวนั้นมากขึ้น หากเราโจมตีเข้าแผลของมัน นอกจากนี้แล้ว เรายังสามารถเข้า Focus Mode เพื่อโจมตีแบบ Focus Attack ใส่แผลเหล่านั้น ทำให้เกิดท่าโจมตีพิเศษของแต่ละอาวุธได้ด้วย ซึ่งต้องว่ากันตามตรงครับว่าระบบนี้ทำให้เกมมันสนุกขึ้นอย่างมาก และทำให้ตัวเกมสามารถเล่นได้หลากหลายวิธีมากขึ้น อย่างบางคนอาจจะเน้นไปที่การสร้างบาดแผล เพื่อเปิดช่องว่างให้กับผู้เล่นคนอื่นโจมตี หรือบางคนก็เป็นสายปิดแผลเองเลย เอาท่าเท่ๆ โจมตีใส่รัวๆ ก็ได้เหมือนกัน อ่อ Wound เนี่ย บางครั้งมันก็ไม่ได้เกิดขึ้นจากการโจมตีของผู้เล่นอย่างเดียวเท่านั้น มันจะมีมอนสเตอร์บางตัวที่มี Wound อยู่ภายในร่างกายอยู่แล้ว ยกตัวอย่าง อย่าง Rey Dau ที่จะมี Wound บริเวณปากของตัวเอง ที่จะเปิดขึ้นทุกครั้งที่มันจะยิง Rail Gun ใส่ผู้เล่น ตรงนี้เองที่ทำให้ผู้เล่นสามารถเลือกได้ว่า ตัวเองจะเล่นเสี่ยงเข้าไป Focus Attack ตรงปากของมันไหม เพราะถ้าพลาดขึ้นมาก็อาจจะเสีย HP จำนวนมาก หรืออาจจะนอนแมวกลับแคมป์ได้เลยครับ
การผสานภาคเก่า: Open World และแผนที่ 3 มิติ
เกมเพลย์หลัก ๆ ของ Monster Hunter Wilds มันก็คือการนำจุดเด่นและเกมการเล่นของเกมภาคก่อนอย่าง World และ Rise มาผสมผสานจนเกิดเป็นภาค Wilds พร้อมกับนำเสนอลูกเล่นใหม่ ๆ ที่ทำให้การออกล่า การเก็บทรัพยากร หรือการเดินทาง มันสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโลก Open World ที่ไร้รอยต่อ พื้นที่ในเกมมีขนาดใหญ่ขึ้น แต่ยังคงความซับซ้อนในทุกอณู ระบบนิเวศที่หลากหลาย หรือแผนที่แบบ 3D ที่ช่วยให้เข้าใจเส้นทางได้ง่ายและไม่เดินหลง เพราะว่ามันสามารถบอกความสูงต่ำของภูมิประเทศได้ ทำให้มันดูแล้วเข้าใจง่ายกว่าแบบเดิม แต่มันก็มีข้อสังเกตเล็ก ๆ ตรงที่บางจังหวะสัญลักษณ์มันมาซ้อนกันและอาจทำให้เราเข้าใจผิดได้
พกอาวุธคู่ใจ และระบบสกิลที่ยืดหยุ่น
นอกจากนี้คุณยังสามารถพกอาวุธได้มากสุดถึง 2 อัน โดยอาวุธอีกอันหนึ่งจะอยู่ที่ Seikret ถ้าอยากสลับคุณก็สามารถเรียก Seikret มาเพื่อหยิบอาวุธอีกอันหนึ่งได้เลย มันทำให้การล่ามีความต่อเนื่อง อย่างในภาคก่อน ๆ ถ้าเราตัดหางได้และอยากจะทุบหัวให้มอนให้แตก ก็ต้องกลับไปเปลี่ยนที่แคมป์ แต่ในภาคนี้คุณเปลี่ยนได้เลย ตัดหางเสร็จปุ๊ป เรียก Seikret หยิบค้อนมาทุบให้หัวมอนแตกได้ทันที แล้วก็ไม่จำเป็นต้องพกอาวุธคนละประเภทกัน คุณจะพกอาวุธประเภทเดียวกันแต่ว่ามีสกิลและธาตุคนละอย่างกันก็ได้หมดไม่มีผิดถูกอยู่ที่สไตล์การเล่นของคุณเลย บางคนใช้ขลุ่ยค้อนบัฟตัวเอง แล้วก็ใช้ Switch Axe ไปไล่หวดมอนแปปเดียวตายก็มี แล้วเพื่อให้สอดคล้องกับการที่คุณสามารถเปลี่ยนอาวุธได้ ภาคนี้สกิลของชุดเกราะและอาวุธจะแยกกันไปเลย เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการจัดการกับสกิลที่จำเป็นสำหรับอาวุธและสไตล์การเล่นของคุณให้มากขึ้นอีกด้วย
สหาย NPC: ผู้ช่วยล่าที่ไม่ธรรมดา
พอยท์สำคัญของผมเลยที่ทำให้เกมภาคนี้เล่นได้สนุกมากยิ่งขึ้นก็คือ NPC สำหรับช่วยล่าครับ ในภาคนี้ เวลาที่เรายิงพลุ SOS ที่เอาไว้เรียกคนอื่นเข้ามาช่วยล่ามอนสเตอร์ต่างๆ จะมี NPC 3 ตัวเข้ามาช่วยเราล่า คือ Olivia ใช้ค้อน Alessa หอกโล่ และ Rosso ยอดนักขี่ อาวุธ Heavy Bowgun โดย NPC ทั้งสามจะคอยมาช่วยเราถ้าเราเรียก หรือแม้กระทั่งบางภารกิจ ก็จะมี NPC เหล่านี้มาช่วยด้วยเช่นเดียวกัน ต้องบอกเลยครับว่า NPC เหล่านี้นี่เป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะพวกเขาจะทำทุกอย่างเหมือนกับผู้เล่นทำเลย เติมยาฟื้นพลังให้บ้าง เติมดาเมจ วางกับดัก หรือแม้กระทั่งเวลาที่มอนสเตอร์นอนแล้วเราเข้าไปวางระเบิด NPC เหล่านี้ก็จะไม่ปลุกมอนสเตอร์ และเข้ามาวางระเบิดเสริมให้เราอีกด้วย เอาจริงๆ NPC เหล่านี้สามารถ จัดการมอนสเตอร์ที่เราล่าได้เลยด้วยซ้ำ แถมเวลาตายของเหล่า NPC เหล่านี้ก็จะไม่นับเหมือนกับผู้เล่นปกติด้วย ถึงแม้ว่าปกติพวกเขาจะไม่ตายอยู่แล้วก็ตามทีครับ ซึ่งพวก NPC พวกนี้ก็จะช่วยเพิ่มความสนุกให้กับผู้เล่นสาย Solo ที่อาจจะไม่อยากออนไลน์เล่นกับผู้เล่นคนอื่น แต่ยังอยากได้ประสบการณ์ในรูปแบบของ Multiplayer อยู่ ได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว
ความสะดวกสบาย vs. ความท้าทาย: ดาบสองคม?
ทั้งนี้ ทั้งหมดที่ว่ามาก็ดูเป็นเหมือนกับดาบสองคมที่อาจจะทำให้ผู้เล่นหน้าเก่านั้นไม่ชอบใจอยู่ได้เช่นเดียวกันครับ เพราะว่าตัวเกมนั้น มีระบบช่วยเหลือ และไอเทมที่เอื้ออำนวยความสะดวกที่มากเกินไปหน่อย ก็อาจจะทำให้ผู้เล่นบางคนรู้สึกขาดความท้าทาย และขาดความรู้สึกของการเป็น Hunter เหมือนในภาคอื่นๆ ในซีรีส์ ที่ต้องใช้ทักษะและความพยายามในการล่ามอนสเตอร์แต่ละตัว ยกตัวอย่างง่ายๆ ครับ ในภาคก่อนๆ ของซีรีส์ ยาฟื้นพลังของเรามีจำกัด เมื่อเราสู้ไปถึงจุดนึงแล้วยาหมด สิ่งที่ฮันเตอร์ส่วนใหญ่ทำก็คือการไปวิ่งวนหาวัตถุดิบในการคราฟต์ยามาใช้สำหรับการต่อสู้เพิ่ม และถ้ามันหมดแล้ว ผู้เล่นก็จำเป็นจะต้องสู้กับมอนสเตอร์ไปทั้งอย่างนั้น ถ้าหลบไม่เก่งก็นอนแมวกลับแคมป์จนครบ เควสเฟลกันไป แต่พอมาในภาคนี้ เรามีระบบเต็นท์สำรอง หรือว่าเต็นท์หลักก็ตามที ที่เราสามารถแวะกลับไปได้ตลอด ยาหมดงั้นหรอ ก็กลับไปเติม บัฟอาหารหมดงั้นหรอ ก็กลับไปกิน ถึงแม้ว่าจะกินผ่าน Portable BBQ Grill ได้อยู่แล้วก็เถอะ และที่สำคัญ เกมนี้ถึงแม้ว่าผมจะบอกว่ามันเป็น Boss Rush แต่ระบบ RPG ของเกมนี้ก็ยังเป็นส่วนที่สำคัญครับ ระบบต่างๆ จะยิบย่อยเต็มไปหมด ทำให้ผู้เล่นหลายคนอาจจะต้องใช้เวลาเรียนรู้มากหน่อย แต่พูดตามตรงว่ามันง่ายขึ้นกว่าเดิมมากๆ แล้ว หรือต้องเรียกว่า มันเป็นเกมที่ ‘Easy to learn Hard to Master’ ครับ
Sound Design - เสียงคำราม ดนตรีประกอบ และเสียงพากย์ (8.5/10)
ดนตรีประกอบ: ความหลากหลายและพลวัตของธีมมอนสเตอร์
ดนตรีประกอบของเกม Monster Hunter Wilds มีความหลากหลายให้อารมณ์และความรู้สึกที่ต่างกันออกไป โดยเฉพาะ Background Music ของมอนแต่ละตัวที่เราได้ต่อสู้ ดนตรีประกอบมันไม่ได้ใช้แพทเทิร์นเดิมตลอดแต่มันมีจังหวะผ่อนหนักผ่อนเบา มีช่วงที่ทำให้ผู้เล่นรู้สึกผ่อนคลายบ้างกับกดดันสลับกันไป แถมบางเพลงที่เลือกใช้ก็ยังสะท้อนเอกลักษณ์และเรื่องราวของมอนสเตอร์ตัวนั้นออกมาได้ดี ที่เห็นชัดสุดก็คือ Arkveld แต่มอนหลักตัวอื่นก็ไม่น้อยหน้าเช่นกันไม่ว่าจะเป็น Rey Dau หรือ Nu Udra ที่นำเอกลักษณ์ในบางองค์ประกอบของ Score Music ในหมู่บ้านต่าง ๆ ของภาคนี้มาใช้ มันทำให้เรื่องราว มอนสเตอร์ ดนตรี ร้อยเรียงจนกลายเป็นเนื้อเดียวกันได้แบบลงตัว
เพลงธีมที่ปรับปรุงใหม่ และความน่าจดจำที่ลดลง
แม้กระทั่ง Gore Magala ที่เอาของเดิมมาปรับใหม่ รวบบางท่อนให้เป็นเนื้อเดียว จัดระเบียบให้กระชับกว่าเดิม เพิ่มความหนักแน่นเข้าไปในบางจังหวะ แต่ยังคงเอกลักษณ์เดิมเอาไว้ แต่ที่น่าเสียดายมากสำหรับภาค Wilds คือ Score Music มันมีเพลงที่น่าจดจำน้อยไปหน่อย แม้หลายเพลงจะใช้งานได้ถูกจังหวะ สร้างบรรยากาศให้เกมไม่เหงาได้ดี แต่ผมกลับความรู้สึกว่าหลายเพลง พอมันไปทิศทางเดียวกันแบบนี้ หลับตาฟังก็เลยรู้สึกว่าธีมและอารมณ์ที่ได้รับมันไม่ต่างกันมาก
เสียงคำรามของมอนสเตอร์: ชีวิตชีวาที่ถูกกลบ
นอกจากการดีไซน์หน้าตามอนใหม่ที่ค่อนข้างมีเอกลักษณ์แล้ว เสียงของพวกมันก็คืออีกองค์ประกอบหนึ่งที่จะทำให้เราเชื่อว่ามอนสเตอร์เหล่านี้มีชีวิตจริง ๆ Sound Design ตรงนี้ระหว่างต่อสู้เราแทบไม่ได้ยินหรอก เพราะมันเป็นแค่องค์ประกอบเล็ก ๆ ที่ถูกเสียงเพลง บรรยากาศ กลบไปเกือบหมด มีหลายตัวที่รู้สึกแปลกใหม่ดีโดยเฉพาะพวกตัวเด่น ๆ ของภาคนี้ ถามว่าองค์ประกอบเล็ก ๆ ตรงนี้มีผลกับความรู้สึกของคนเล่นมากน้อยแค่ไหน อันนี้แล้วแต่คนเลย เพราะตอนแรกผมก็แค่สะใจที่ได้ตบตีแย้อย่างเมามันส์ จนมันโกรธแล้วคำรามออกมาด้วยความเจ็บปวด แต่หลังจากที่ได้รู้เรื่องของพวกมันมากขึ้น เสียงคำรามเหล่านั้นสะท้อนความเป็นตัวตนของมันออกมาได้ดี ไม่ได้มีแค่ความเจ็บปวด ถึงแม้จะไม่ใช่ทุกตัว แต่อย่างน้อยมันก็ทำให้ผมรู้สึกได้
ตัวละครมีเสียง (เสียที!) แต่คุณภาพการพากย์ยังต้องปรับปรุง
แล้วที่พิเศษไปกว่าภาคไหน ๆ ก็คือภาคนี้ตัวละครของคุณไม่ได้เป็นใบ้แล้ว พูดได้ ออกความคิดเป็น ตรงนี้ช่วยเสริมการเล่าเรื่องของ Monster Hunter Wilds ให้ดีขึ้น ถือเป็นทิศทางที่ดีของแฟรนไชส์นี้ ส่วนเรื่องเสียงพากย์ของตัวละครในภาคนี้ผมว่าบางจุดยังส่งอารมณ์ได้ไม่ดีพอ น้ำเสียงค่อนข้างแบนไร้มิติไปหน่อย มันทำให้ผมไม่อินไปกับเนื้อเรื่อง ตรงนี้คือจุดที่ Monster Hunter ต้องปรับปรุง
เสียงพากย์และการลิปซิงค์: ญี่ปุ่น vs. อังกฤษ
ถ้าถามว่าจะเล่นเกมนี้ด้วยเสียงพากย์แบบไหนดี ? แน่นอนว่าแฟนเกมก็ต้องเล่นภาษาญี่ปุ่นกันอยู่แล้ว ซึ่งการงับคำหรือจังหวะการพูดค่อนข้างตรงกับรูปปาก แต่เสียงพากย์ภาษาอังกฤษมีงับไม่ตรงบ้าง แต่น้อยมาก คือถ้าคุณไม่ได้มาจ้องจับผิดก็ไม่รู้สึกหรอก
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย: เสียงที่เพิ่มความสนุก
นอกจากนี้ Sound Design ใน Monster Hunter Wilds บางจุดเองก็มีความน่าสนใจในหลายองค์ประกอบ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายสุดก็ตอนย่างเนื้อในภาค Wilds มีการเปลี่ยนเพลงใหม่กระชับขึ้น และใส่ลูกเล่นที่ให้คุณกดหั่นเนื้อตามจังหวะเพลงเพิ่มเข้าไป มันทั้งเพลินและสนุกไปอีกแบบ แน่นอนว่าในเกมมีอะไรแบบนี้เยอะแม้จะเป็นองค์ประกอบที่เล็กน้อย แต่มันก็ช่วยเสริมให้ Monster Hunter Wilds เป็นโลกของการล่าที่โคตรบันเทิง
Performance - ความลื่นไหลที่น่าพอใจบน PS5 (7.5/10)
การเปลี่ยน Engine และประสิทธิภาพบน PS5
จาก MT Framework ที่ลากกันมาจนสุดทางใน Monster Hunter World สู่การเปลี่ยนแปลงมาเป็น RE Engine ในภาค Rise นั่นเลยทำให้ Monster Hunter Wilds ก็ใช้ RE Engine ในการสร้างขึ้นมาด้วยเช่นกัน
ตัวผมเล่น Monster Hunter Wilds ด้วย PlayStation 5 ตลอดเวลาที่ล่าแย้มาเป็นหลัก 100 ชั่วโมงผมต้องบอกเลยว่า Monster Hunter Wilds มีการ Optimize ในระดับที่ค่อนข้างดี ดีกว่าตอน Beta Test ที่เปิดให้เข้าไปทดสอบกันก่อนเกมออกไม่กี่สัปดาห์
โหมดกราฟิก: ทางเลือกบน PS5 และ PS5 Pro
ตัวเกมมีโหมดกราฟิกให้ปรับ 3 อย่างไม่ว่าจะเป็น Prioritize Resolution ที่ล็อกเฟรมเรตไว้ที่ 30 FPS แลกกับการที่ภาพและรายละเอียดในฉากคมชัดขึ้น, โหมด Balanced จะล็อกเฟรมเรตไว้ที่ 40 FPS ภาพลื่นมากขึ้น แต่ความคมชัดของภาพลดลงมานิดหน่อย และสุดท้ายก็คือโหมด Prioritize Framerate โหมดนี้คือโหมดที่เน้นความลื่นไหลเพียงอย่างเดียว ทำให้คุณสามารถเล่นเกมได้ลื่น ๆ ที่ 60 FPS ทุกโหมดรองรับความละเอียดสูงสุดที่ 4K แบบ Upscale แต่ไม่รองรับ Ray Tracing
แต่ถ้าใครเล่นบน PS5 Pro ในโหมด Prioritize Resolution สามารถรันเกมที่ความละเอียด 4K แบบไม่ต้อง Upscale ได้ แถมรองรับการแสดงผล Ray Tracing อีกด้วยในโหมด Prioritize Resolution และ Balanced ถ้าใครอยากไปสุดในการเล่น Monster Hunter Wilds ด้วยคอนโซล PS5 Pro คือคำตอบ
ประสบการณ์จาก Beta Test: ความผิดหวังช่วงแรก
แต่สำหรับผม PS5 รุ่นปกติ มันก็เพียงพอแล้ว ในตอนที่เล่น Monster Hunter Wilds ในช่วง Beta Test ทั้ง 2 รอบ ผมลองปรับกราฟิกไปใช้โหมด Prioritize Resolution และ Balanced ผมสัมผัสได้ว่าตัวเกม Optimize ออกมาได้ค่อนข้างแย่ สำหรับผมโหมด Prioritize Resolution แม้จะสวยคมชัดแต่ก็ยังคุมเฟรมเรตได้ดี มีแกว่งบ้างในช่วงที่การต่อสู้มันระเบิดภูเขาเผากระท่อม ผิดกับโหมด Balanced นอกจาก Texture จะไม่ชัดแล้วเฟรมยังแกว่งบ่อยมาก ทั้งที่ภาพของเกมแทบไม่ต่างจากภาค World
ทำให้ผมไม่สนุกเพราะภาพไม่ชัดแล้วเฟรมยังลื่นอีก มันฝังใจจนผมตัดสินใจไปเล่นโหมด Prioritize Resolution ยังดีกว่า แม้เฟรมเรตจะแค่ 30 เฟรมแต่อย่างน้อยมันก็ยังเป็น 30 เฟรมที่นิ่งกว่า เพราะตอนที่เล่นภาค World ใน PS4 ผมก็เล่นได้ไม่มีปัญหา
เกมตัวเต็ม: ความลื่นไหลที่น่าพอใจ
จนกระทั่งเกมวางขายจริงผมก็จัดโหมด Balanced มาตลอดทั้งเกมจนจบเนื้อเรื่องหลัก ประสบการณ์ที่ได้รับก็คือดีมาก ๆ เฟรมเรตนิ่ง แกว่งบ้างในบางจังหวะแต่น้อยมาก ตรงนี้ผมเข้าใจได้ว่ามันเป็นเรื่องข้อจำกัดของฮาร์ดแวร์ เกมค้าง เกมแครช ปัญหาเหล่านี้ไม่มีเลยแม้แต่ครั้งเดียว จนผมแอบเผลอใจไปลองโหมด Prioritize Framerate ที่ฝังใจอยู่นาน สุดท้ายโดนตกใช้โหมดนี้เล่นไปเป็น 100 ชั่วโมง เพราะอะไรไม่ต้องสืบ เพราะมันลื่นมากแบบที่มันควรจะเป็น แย้จัดหนักใส่ท่าใหญ่ หรือ ยกพวกตะลุมบอนกันตั้ง 2-3 ตัวขึ้นไปเฟรมเรตก็ไม่ได้ร่วงเยอะจนน่าหงุดหงิดแบบในตอน Beta Test
ปัญหาที่ยังคงอยู่: Texture, แอนิเมชัน และบั๊ก
แต่ที่ผมไม่ชอบหนัก ๆ และคิดว่าเกมควรทำได้ดีกว่านี้เลยก็คือเรื่อง Texture ของเกมในโหมด Prioritize Framerate ที่มันค่อนข้างหยาบในบางฉากเช่น เวลาที่มีพายุทรายในฉาก Windward Plains ทุกอย่างที่ไกล ๆ จะเบลอไปหมดทำให้มองอะไรไม่ค่อยชัดจนทำให้ผมตาลายในบางครั้ง แล้วปัญหาเรื่องแอนิเมชันของสัตว์ที่อยู่ไกล ๆ ขยับเป็น Stop Motion ไม่ว่าคุณจะปรับกราฟิกเป็นโหมดไหนก็มีเหมือนกัน ปัญหานี้ผมเห็นมาตั้งแต่ World ก็ไม่คิดว่า Monster Hunter Wilds ที่สร้างโดย RE Engine จะมีปัญหานี้เหมือนกัน ส่วนบั๊กก็มีให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง Texture โหลดช้าก็มีให้เห็น แต่หลัก ๆ ที่เจอก็จะเป็นพวกมอนเดินติดกำแพง, เดินติดต้นไม้ หรือกำลังจะเปลี่ยนฉากแต่ดันขยับไม่ได้เหมือนเดิมติดอะไรสักอย่าง
บทสรุป Performance บน PS5
ประสบการณ์ที่ผมได้รับในด้าน Performance ของ Monster Hunter Wilds บน PS5 อยู่ในระดับที่ดี อาจไม่ตอบโจทย์เรื่องความสวยงามของภาพ สายเสพกราฟิกอาจไม่ถูกใจ แต่ถ้าความลื่นไหลผมให้สอบผ่านเลย แม้จะมีปัญหาเฟรมแกว่งอยู่บ้างในบางครั้ง แต่อย่างน้อยมันก็ดีกว่าใน Beta มาก ๆ แล้ว